อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐ พื้นที่อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย พระพุทธรูปแบบนี้ แบบผสมระหว่างศิลปะแบบทวาราวดีลพบุรี และสุโขทัย แบ่งออกได้เป็น ๓ รุ่น คือ
รุ่นที่ ๑ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เป็นฝีมือช่างไทย แต่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบ ทวาราวดี ลักษณะโดยทั่วไปมีพระรัศมีทั้งแบบต่อม นูนเป็นกระเปาะ และคล้ายทรงฝาชีเตี้ย พระพักตร์เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบรอบวงพระพักตร์ แบ่งส่วนพระเกษากับพระนลาฎ เส้นพระเกศาละเอียด พระหนุ ค่อนข้างแหลม พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์แบะ ชายสังฆาฏิยาว ชายขอบอันตรวาสก (สบง) ด้านบนเป็นสัน ฐานหน้ากระดาษ ด้านหน้าเป็นร่องเข้าด้านใน ด้านหลังเรียบและโค้งออก
รุ่นที่ ๒ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมมากขึ้น ลักษณะส่วนใหญ่เหมือนรุ่นที่ ๑ ที่ต่างกัน คือ รุ่นนี้มีรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมมากขึ้น พระนาสิกโค้งมากขึ้น พระหนุสี่เหลี่ยม รุ่นที่ ๓ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย จึงทำแบบสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะ พระกายค่อนข้างสูง พระพักตร์รูปไข่ มีไรพระศกเป็นแถบแบนกว้างกันระหว่างพระนลาฏกับเส้นพระศก พระรัศมีเป็นเปลวแบบสุโขทัย แต่ด้านหลังเรียบ ระหว่างเส้นพระศกกับพระรัศมีมีแถบกั้น สังฆาฏิมีขนาดใหญ่ ฐานเป็นแบบหน้ากระดานสองแผ่นซ้อนกัน มีร่องตรงกลางเว้าเข้า ด้านหลังโค้งออกและเรียบ
|