ข้อมูลประวัติ ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง เชียงใหม่
ครูบาธรรมชัย นามเดิมว่า กองแก้ว เมืองศักดิ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2457 ตรงกับเดือน 9 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ ปีขาลฉะศก ทางเหนือเรียกว่า ปีกาบยี่ รศ.133 จุลศักราช 1276 ถือกำเนิดที่หมู่บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ 6 ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายสุจา หรือหนามพรหมเสน มารดาชื่อนางคำป้อ บิดามารดามีอาชีพแพทย์แผนโบราณและช่างไม้ ทำสวน ทำนา มีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน 7 คน ท่านเคารพบูชาในบิดา มารดามาก เชื่อฟังคำสั่งสอนอยู่ในโอวาทของผู้บังเกิดเกล้าอย่างเคร่งครัด ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดจริง ทำจริง ไม่เหลาะแหละเหลวไหล สนใจในธรรมะ ชอบเข้าวัดเข้าวามาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะบิดาเคยบวชเรียนมาแล้วรอบรู้ในอรรถในธรรม จึงได้อบรมปลูกนิสัยลูกทุก ๆ คนให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย
ท่านได้เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล ณ บ้านสันป่าสักจบชั้นประถมปีที่ ๓ มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนกิริยามารยาทเรียบร้อยมีความอุตสาหพยายามเป็นผู้มีความเสียสละกตัญญูกตเวทีตาต่อบุพการี
สามเณรกองแก้ว
เมื่อท่านเรียนจบชั้นประถม 3 อายุได้ 15 ปี ครูบาธรรมชัย ได้เข้าอบรมเป็นศิษย์วัดสันป่าสักอยู่ 3 เดือน หัดท่องเรียนเขียนอ่านตัวอักขระพื้นเมืองเหนือและเรียนสวดมนต์สิกขาสามเณร โดยมีพระบิดา และพระอินหวันเป็นผู้สอน เมื่อท่องเรียนเขียนอ่านได้คล่องแล้ว จึงได้บวชเป็นสามเณรในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2471 เดือน 6 เหนือ ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ทางเหนือเรียกว่าปีเบิกสี เจ้าอธิการคำมูล ธัมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นอุปัชฌาย์
เป็นสามเณรอยู่ได้ 1 พรรษา มีความสนใจในสมถกรรมฐานมาก ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหน จิตใจคอยครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องการธุดงค์ของพระสงฆ์องค์เจ้า รุ่นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่บวชเรียนแล้วนิยมพากันเข้าป่าบำเพ็ญเพียรภาวนา แสวงหาธรรมวิเศษ เราเป็นสามเณรน้อยก็ได้ชื่อว่าบวชเรียนเข้ามาอาศัยในพระศาสนา ควรจะออกเดินทางเข้าป่าดูบ้างเพื่อแสวงหาพระธรรมอันวิเศษ
หลังจากครุ่นคิดไตร่ตรองอยู่หลายวัน ท่านจึงได้เข้าไปกราบลาสมภารเจ้าวัดว่า ขอลาเข้าไปบำเพ็ญกรรมฐานในป่าสักหนึ่งพรรษา สมภารเจ้าวัดตกใจ เพราะยังเห็นว่าเป็นสามเณรอ่อนพรรษา ไม่ประสีประสาในเรื่องอรรถธรรมตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ดีพอ ขืนเข้าไปอยู่ป่าอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จึงได้ห้ามปราบไว้ แต่ครูบาธรรมชัย หรือสามเณรกองแก้วในสมัยนั้น ก็ยืนกรานที่จะเดินธุดงค์เข้าป่า ไปกระทำความเพียรแต่เพียงผู้เดียวให้จงได้ สมภารเจ้าวัดอ่อนอกอ่อนใจเลยอนุญาตให้ไปได้ตามปรารถนาไม่อย่างชัดศรัทธาให้เป็นบาป และยังได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในป่าให้หลายอย่างด้วยความเมตตาเอ็นดู
ธุดงค์โดดเดี่ยว
เมื่อกราบลาสมภารเจ้าวัดแล้ว สามเณรกองแก้วก็ออกจากวัดไป มีบริขารเท่าที่จำเป็น ตามถ้ำ ตามเพิงผา ไม่จำเป็นต้องใช้กลดใช้มุ้งให้ยุ่งยาก ถ้ายุงจะกัด ทากจะดูดกินเลือดก็ให้มันกินเลือดตามต้องการ ไม่อาลัยใยดีในสังขาร แต่สำหรับบาตรนั้นจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการออกบิณฑบาต หาปัจจัยมาหล่อเลี้ยงสังขารตามความจำเป็น เมื่อเดินทางไปถึงป่าห้วยดิบแต่ลำพังผู้เดียว ได้พบชาวบ้านวัยกลางคนผู้หนึ่งออกมาจากป่า ชายผู้นั้นแสดงความตกใจ เมื่อรู้ว่าสามเณรองค์น้อยจะเข้าป่าไปบำเพ็ญเพียรภาวนา เขาได้กล่าวเตือนอย่างหวาดกลัวว่า เวลานั้นมีเสือเย็นหรือเสือสมิงตัวหนึ่งกำลังออกอาละวาดหากินอยู่ในป่า เสือดุร้ายตัวนี้โตใหญ่เกือบเท่าควายหนุ่ม เป็นเสืออาคม คือ มีตุ๊เจ้าหรือพระองค์หนึ่งแก่กล้าวิชาไสยศาสตร์ เกิดร้อนวิชามีอาเพศให้เป็นไปด้วยบาปกรรม ชอบแปลงร่างเป็นเสือตัวใหญ่ลักเอาวัวควายชาวบ้านไปกินบ่อย ๆ นานวันเข้าถึงกับคาบเอาคนไปกิน มีชาวบ้านที่ออกป่าไปเก็บฟืนและสมุนไพรในป่าแล้วถูกเสืออาคมตัวนี้คาบไปกินหลายรายแล้ว ขอให้สามเณรรีบกลับวัดเสียเถิด ขืนเข้าไปอยู่ในป่ามีหวังเจอเสือเย็นตัวนี้แน่
สามเณรไม่กลัวเสือ บอกว่าอันคนเรานี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เมื่อเกิดมาก็ดิ้นรนกันไปต่าง ๆ นานา แล้วในที่สุด ก็สิ้นสุดปลายทางที่ความตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะหลีกหนีความตายไปได้พ้น เราเกิดมาในชาตินี้ ได้บวชเรียนในพระศาสนา ถือได้ว่าเป็นบุญกุศลใหญ่ จะต้องปฏิบัติกิจพระศาสนาด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริง ด้วยการเข้าไปปฏิบัติกรรมฐานในป่า ขออุทิศชีวิตให้กับป่าดงพงพี เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายอันพึงจะมี มิได้อาลัยเสียดายต่อชีวิต ถ้าจะตายก็ขอให้มันตายไปเถิด ขอให้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียงสร้างสมบารมีเป็นพอ ชีวิตคนเรานี้สั้นนัก วันตายจะมาถึงเมื่อไรไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงอยากจะเร่งรีบสร้างความดีด้วยการปฏิบัติธรรมเพราะการรีรอผัดวันประกันพรุ่งย่อมถือได้ว่า เป็นผู้อยู่ในความประมาท ปัจฉิมโอวาทหรือพระวาจาครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงรวบรวมซึ่งโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานไว้ตลอด 45 พรรษา ลงในจุดใหญ่ใจความคือ ความไม่ประมาท อันเดียวเท่านั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า
"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารมีความเสื่อมความฉิบหายไปเป็นธรรมดา"
"ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"ชายชาวบ้านได้สดับตรับฟังถ้อยวาจาของสามเณรกองแก้วดั่งนี้ ก็ยกมือโมทนาสาธุให้กับความตั้งใจอันอาจหาญเด็ดเดี่ยวของสามเณร และกล่าวสรรเสริญว่า สามเณรแม้จะอายุยังน้อยแต่มีจิตเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีวิจิกิจฉา คือไม่มีความสงสัยในพระรัตนตรัยสามเณรเป็นผู้เจริญโดยแท้ เป็นนักบุญที่มนุษย์และเทวดาจะพึงสรรเสริญ กล่าวแล้วชายชาวบ้านป่าก็กราบลาไป
ป่าห้วยดิบ
สามเณรกองแก้วได้ธุดงค์เข้าไปในป่าห้วยดิบด้วยจิตตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ป่าใหญ่แห่งนี้ชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายอาศัยหากิน เช่น เสือ ช้าง หมี งู กระทิง เป็นต้น สามเณรเลือกได้ทำเลเหมาะสมใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเป็นที่พักอาศัยสำหรับนั่งบำเพ็ญสมาธิและเดินจงกรม ธรรมชาติของป่าอันสงัดเงียบวังเวงใจ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกเบาสบายถูกกับนิสัยรักสงบของท่านมาก ความรู้สึกหวาดกลัวภัยอันตรายในป่าไม่มีเลย เพราะได้ตั้งจิตที่จะอุทิศตนต่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะเสียชีวิตก็ไม่อาลัยเสียดาย เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองมีศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างเด็ดขาด ไม่สงสัยหวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวมีใจตั้งมั่นในการปฏิบัติจนถึงที่สุดจักต้องพบธรรมวิเศษ อันเป็นพระธรรมที่พ้นจากโลก อยู่เหนือโลกและไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาอย่างแน่นอน คืนแรกในป่าห้วยดิบ
สามเณรนั่งสมถภาวนาอยู่จนค่อนคืนจิตตั้งมั่นในสมาธิยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะยังมีถีนะมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนบ้าง ความคิดฟุ้งซ่านของอารมณ์บ้าง (อุทธัจจะกุกกุจจะ) ซึ่งเป็นสิ่งกั้นความดีมิให้เกิดที่เรียกว่า นิวรณ์คอยรบกวนจิตไม่ให้รวมตัวสงบได้ ทำให้ได้ความรู้ว่า ความตั้งใจของคนเรานี้ พอทำเข้าจริง ๆ มันไม่ค่อยจะได้ผลดังใจเลย ต้องมีอุปสรรคขัดขวางเป็นธรรมดา จิตคนเรานี่มันเหมือนลิงหลุกหลิกยิ่งพยายามจะบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ ยิ่งหลุกหลิกไปกันใหญ่ ทำให้รู้สึกนึกขำ และตั้งใจว่าจะต้องเพ่งเพียรเอาชนะจิต บังคับมันให้สงบอยู่ในอำนาจของตนให้จงได้ หลังจากเดินจงกรมแล้วก็นั่งหลับในงีบหนึ่งก็พอดีสว่าง ตลอดคืนไม่มีสัตว์ป่าเข้ามาแผ้วพานรบกวนเลย ลงไปอาบน้ำเย็นเฉียบชำระกายในห้วย แล้วจึงออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารพอสมควรตามศรัทธาของชาวบ้าน นำมาขบฉันในป่าแต่พออิ่ม เพื่อยังชีพ ไม่พยายามติดใจในรสชาติเอร็ดอร่อยของอาหาร เห็นว่าอาหารเป็นสิ่งปฏิกูลที่จำใจต้องขบฉันเข้าไปก็เพื่อให้สังขารร่างกายพอดำรงอยู่ได้เท่านั้น เพื่อที่จะมีแรงบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ขณะที่นั่งขบฉันอาหารในบาตรอยู่ใต้ต้นไม้นั้น สังเกตเห็นว่า ตรงที่นั่งอยู่มีรอยบุ๋มกดลงไปในดิน เมื่อเพ่งดูก็รู้ว่าเป็นรอยตีนเสือขนาดใหญ่เท่าจานข้าว รู้สึกแปลกใจจึงลุกขึ้นเดินสำรวจดูก็ได้พบอีกว่า มีรอยเสือใหญ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น เป็นรอยใหม่ ๆ แสดงว่า เสือตัวนี้มันมาเดินวนเวียนอยู่โคนต้นไม้ตอนที่สามเณรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
พอรู้ว่าเสือขนาดใหญ่มาปรากฏในบริเวณที่นั่งสมาธิบำเพ็ญบารมี พลันมีอาการขนลุกซู่ไปทั้งตัว จิตใจหวั่นไหวรู้สึกกลัวจนตัวสั่นขาดสติไปชั่วขณะ แต่แล้วก็ตั้งสติได้ และนึกขำตัวเองทีแรกบอกว่าไม่กลัวอะไร พร้อมแล้วที่จะยอมตายในป่า แต่พอเอาเข้าจริง ๆ เห็นแค่รอยเสือก็ตกใจกลัวขาดสติเสียแล้ว นี่แสดงอีกว่า จิตคนเรานี้มันชอบหลอกหลอนตัวเราเอง เหมือนลิงหลอกเจ้าจริง ๆ เมื่อรู้แน่ว่า เสือมาเยี่ยมจริง ๆ ไม่ได้ตาฝาดหรือฝันไป สามเณรก็พยายามสงบใจลงนั่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ ดำรงสติให้ตั้งมั่นรำพึงถึง "สติปัฎฐาน 4" อันเป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าภิกษุในพระธรรมวินัยไปอยู่ในป่าหรือว่าอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือ ไปอยู่ที่ว่างบ้านเรือนสกปรกโสโครกทั้งข้างนอกข้างใน ชวนให้อาเจียนเหียนรากแท้ ๆ เราเบื่อหน่ายในร่างกายเราปรารถนาจะทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ตัดขาดจากกิเลส ถ้าเราตัดขาดจากกองกิเลสตัณหาคือร่างกายสังขารนี้ได้แล้ว เราก็จะไปอยู่แดนนิพพานซึ่งเป็นแดนสุขอย่างยิ่ง สามเณรกองแก้วเล่าว่า ท่านได้พิจารณาอย่างนี้ไปตามความรู้ความเข้าใจของสามเณรวัยเยาว์ที่ยังอ่อนต่อการศึกษาในหลักพระธรรม พิจารณาไปตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนจะผิดจะถูกอย่างไรไม่คิดถึง คิดอย่างเดียวว่าครูบาอาจารย์สอนมานี้เป็นของจริงแท้ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าแน่ เมื่อพิจารณาอย่างนี้กลับไปกลับมาเป็นเวลานานพอสมควร ปรากฏอัศจรรย์ว่า จิตรวมตัวเข้าสู่ความสงบอย่างไม่รู้ตัวเป็นสมาธิในเอกจิต ลืมเรื่องเสือ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตและปัจจุบันหมดสิ้น แต่มีสติรู้ตัวว่า มีอารมณ์โพรงสว่างไสวสภาพจิตมีความเยือกเย็นแช่มชื่นอย่างพรรณนาไม่ถูก
ประจัญหน้าเสือ
จิตเริ่มคลายออกจากสมาธิมารับรู้อารมณ์ภายนอกกายอีก ครั้งหนึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้วแสงแดดตกรำไรเรี่ยยอดไม้ บอกให้รู้ว่า จิตดำรงสมาธิมาเป็นเวลานานเกือบ 8 ชั่วโมง จึงลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถเดินไปที่ลำห้วยเพื่อจะอาบน้ำชำระกาย ทันใดก็ต้องตกตะลึงยืนนิ่งอยู่กับที่ก้าวขาไม่ออก เมื่อพบว่าเสือใหญ่ตัวหนึ่งกำลังก้มกินน้ำอยู่ที่ลำห้วย เป็นเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่มากเกือบเท่าควายแต่เตี้ยกว่า หางมันลากดินกวัดแกว่งไปมา ดูเหมือนมันจะรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่ามีคนเดินมาข้างหลังมันรีบหันขวับกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นหัวโตขนาดกระบุง นัยน์ตาสีเหลืองจัดมีประกายวาวจ้าคล้ายกระทบแสงไฟน่ากลัวมาก สามเณรตะลึงเสือก็ตะลึงที่ได้ประจันหน้ากันอย่างไม่นึกฝัน ครั้งแล้วชั่วอึดใจที่ต่างฝ่ายต่างก็ตะลึงจังงังเสือโคร่งตัวใหญ่ก็แยกเขี้ยวส่งเสียงคำรามดังสนั่นปานฟ้าผ่า ย่อตัวลงต่ำกระโจนผึงเข้าตะครุบสามเณรอย่างดุร้ายกระหายเลือด ความตกใจทำให้สามเณรผงะก้าวถอยหลังเลยสะดุดรากไม้ริมตลิ่งล้มลง ทำให้เสือกระโดดข้ามหัวไปจนเย็นวาบไปทั้งร่างด้วยแรงลมที่พัดผ่าน ความตื่นตระหนกทำสามเณรลุกไม่ขึ้น นอนเนื้อตัวสั่นเทา ๆ อยู่ตรงนั้นเอง เพราะควบคุมสติไม่อยู่ คิดว่าตัวเองต้องตกเป็นอาหารเสือแน่ ๆ วันนี้ แต่เสือหายเงียบไปไม่เห็นกลับมาอีก จึงค่อยมีสติลุกขึ้นมองไปรอบ ๆ ก็ไม่ปรากฏพบวี่แววของเสือตัวนั้นเลย คงพบแต่รอยขนาดใหญ่ของมันมีขนาดเท่าจานข้าวย่ำอยู่แถวนั้น
เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า เป็นรอยเสือตัวเดียวกันกับที่ปรากฏตรงโคนต้นไม้ที่นั่งบำเพ็ญสมาธิ พักใหญ่จิตจึงคลายจากความหวาดกลัวมีสติทำให้ได้ข้อคิดพิจารณาว่า สตินี้เป็นตัวสำคัญของคนเรา เมื่อชั่วครูนี้เราขาดสติอย่างน่าละอาย สติขาดจากใจทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เวลาตกอยู่ในที่คับขันอันตรายกะทันหันไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว สติกับปัญญาจะต้องอยู่คู่กันตลอดเวลาถึงจะใช้ได้เพราะปัญญาของเรายังไม่แหลมคม ปัญญายังไม่หยั่งรู้ถึงสัจจธรรมที่แท้จริงจิตจึงมีความกลัว ถ้าเราทำลายความกลัวให้เด็ดขาดลงไปได้ ปัญญาและสติจะต้องมั่นคงเป็นสมบัติติดอยู่กับใจ เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงตัดสินใจว่า จะต้องเดินตามหาเสือตัวนี้ให้พบแล้วนั่งคุกเข่าลงตรงหน้ามันยอมให้มันขบกัดฉีกเนื้อกินเสีย เป็นการอุทิศร่างกายชีวิตเลือดเนื้อให้มันด้วยความเมตตาสงสาร และจักเป็นการทำลายความกลังในจิตใจของเราให้หายขาดไปด้วย
สามเณรเดินขึ้นมาจากลำห้วยตามหาเสือที่เห็นรอยของมันเป็นทางไป รอยนั้นใหญ่มากและชัดเจนกดลึกลงไปในดินใหม่ ๆ จิตใจเต็มไปด้วยความอาจหาญใคร่ที่จะพลีชีวิตอุทิศให้เสือกินอย่างไม่เสียดายอาลัย รอยเสือโคร่งมุ่งหน้าไปทางโคนต้นไม้ที่สามเณรใช้เป็นที่นั่งบำเพ็ญภาวนา
เสือกลายเป็นพระ
ครั้นแล้วสามเณรก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่าที่โคนต้นไม้นั้นมีสีเหลืองนั่งอยู่ สีเหลืองนั้นไม่ใช่เสือหากเป็นพระภิกษุวัยกลางคนรูปหนึ่งกำลังนั่งอยู่ตรงโคนต้นไม้ ลักษณะท่าทางของพระภิกษุรูปนั้นมีสง่าน่าเลื่อมใสผิวคล้ำเกรียม ท่านเผยอยิ้มน้อย ๆ ให้แล้วทักทายขึ้นด้วยเสียงเยือกเย็นว่า "เดินตามหาเสือจะให้เสือกินจริง ๆ หรือเณรน้อย" สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) รู้สึกสะดุ้งใจ ที่พระภิกษุแปลกหน้าล่วงรู้ความในใจของตน จึงนั่งลงกราบแล้วถามว่า หลวงพ่อรู้ได้ยังไง หลวงพ่อพบเสือตัวนั้นผ่านมาทางนี้หรือ ? หลวงพ่อหัวเราะไม่ตอบคำถามนั้น แต่ท่านกลับกล่าวยกย่องว่า มีสติปัญญาดี ต่อไปภายหน้าจะรุ่งเรือง ขออย่าได้สึกเลย ให้ฝากชีวิตไว้กับพระศาสนา
สามเณรกองแก้วรู้สึกอิ่มเอิบใจที่หลวงพ่อแปลกหน้าในป่ากล่าวให้กำลังใจเช่นนั้น แต่ก็ยังติดใจในเรื่องเสือใหญ่ตัวนั้นอยู่ จึงถามว่า เสือตัวนั้นเป็นเสือจริง ๆ หรือเป็นเสืออาคมกันแน่
"เสือไม่สำคัญ ใจเราสำคัญกว่า อย่าไปสนใจเสือ เมื่อใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ มีศีลมีสมาธิ มีปัญญาอยู่เต็มภูมิแล้ว"
"เราชนะทุกอย่าง เสือสางสิงสาราสัตว์ในโลกนี้จะมาทำอะไรเราไม่ได้เลย"หลวงพ่อกล่าว สามเณรกองแก้วกราบด้วยความเคารพเลื่อมใจแล้วถามว่า หลวงพ่อมาจากไหน ? จะไปไหน ? ท่านตอบว่า ท่านเป็นพระกรรมฐาน เป็นพระป่า แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม แต่ไม่ยอมบอกชื่อเสียงเรียงนาม "เณรมีความตั้งใจดี ปฎิบัติดีแล้ว แต่ยังขาดครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน การปฏิบัติกรรมฐานนี้ต้องมีครู ถ้าปฏิบัติด้นดั้นไปตามลำพัง ตนเองก็เปรียบเสมือนเขาตัดถนนไว้ให้แล้ว แต่เราไม่เดินตามถนนสายนั้น" "กลับเดินบุกป่าฝ่าดงไป โอกาสที่จะหลงทางมีมาก หรือถ้าไม่หลงทางกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ย่ำแย่ไปเลย" หลวงพ่อตักเตือนด้วยความหวังดี สามเณรกองแก้วถามว่าควรจะไปเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์ที่ไหนดี หลวงพ่อตอบว่า พระอาจารย์ที่เก่งกรรมฐานมีอยู่หลายองค์อยู่ตามวัดก็มี อยู่ตามป่าตามเขาก็มี แต่ที่สะดวกไปหาได้ง่ายอยู่ไม่ไกลก็คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย สมควรที่สามเณรจะได้ไปกราบเท้าท่านฝากตัวเป็นลูกศิษย์เสียเถิด เพราะครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านมีบุญญาบารมีมาก เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบหาผู้เสมอเหมือนได้น้อยมาก
เดินจงกรม
จากนั้น หลวงพ่อแปลกหน้าก็ได้แนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติกรรมฐานให้หลายอย่าง โดยเฉพาะการเดินจงกรม ท่านได้กรุณาแนะนำว่า
"การเดินจงกรม กับ การนั่งสมาธิ จะต่างกันตรงที่เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น การเดินจงกรมต้องเดินให้ถูกวิธีถึงจะได้ผล อย่าเดินส่งเดชตามสบายใจตัวเอง ต้องเดินตามวิธีของครูบาอาจารย์ท่านกำหนดไว้ ก่อนเดินจงกรมเราต้องดูต้องหาสถานที่สมควรก่อน จะต้องเป็นสถานที่เงียบสงัด พื้นดินต้องเรียบราบ อย่าให้เป็นพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ความยาวของสถานที่เดินจงกรมกำหนดอย่างสั้นประมาณ 25 ก้าว อย่างยาวที่สุด 50 ก้าว ควรจะกำหนดทางเดินไว้ 3 สายคือ.-
1. เดินตามดวงตะวันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก
2. เดินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
3. เดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
การเดินจงกรม 3 สายนี้ เดินเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเดินตัดทางโคจรของดวงตะวันไม่ดี แต่ถ้าสถานที่จำกัดจะเดินสายเดียวก็ได้ให้เลือกเอา ครั้งแรกจะเดินจงกรมให้ประณมมือขึ้นเสียก่อน ระลึกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ (ว่า 3 จบ) ยกมืออธิษฐานไว้เหนือระหว่างคิ้ว ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยที่ตนถือเป็นสรณะที่พึ่งยึดเหนี่ยวใจ และระลึกถึงคุณบิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดท่านผู้เคยมีพระคุณแก่ตน จากนั้นรำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งความเพียรที่กำลังจะทำด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้น ๆ เสร็จแล้วเอามือลง เอามือซ้ายลงก่อนเอามือขวาวางทับทาบกันไว้ที่ท้องน้อยใต้สะดือตามแบบพุทธรำพึง ให้เจริญพรหมวิหารสี่ เจริญจบแล้วทอดตาลงต่ำในท่าสำรวม ตั้งสติกำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ หรือพิจารณาธรรมทั้งหลายตามแบบที่เคยภาวนา แล้วเริ่มออกเดินทอดสายตาลงประมาณในราว 4 ศอกเป็นอย่างไกล หรือใกล้เข้ามาที่เท้าเราก้าวนั้นก็ได้ แต่เมื่อรู้สึกเดินไม่สะดวกก็มองออกห่างไปหน่อย เมื่อห่างออกก็ไม่สะดวกสบายก็ให้ทอดสายตาหาระยะที่พอสบายแต่อย่าให้ไกลนัก วิธีเดิน อย่าก้าวเดินให้ไวนัก อย่าช้านัก อย่าก้าวยาวนัก อย่าสั้นนัก อย่าเผลอปล่อยมือไกวแขนหรือเอามือขัดหลังและกอดอก อย่าเผลอเดินมองโน่นมองนี่ ถ้าจะภาวนาพุทโธก็ให้ก้าวขาไปหนึ่งว่า "พุท" ก้าวอีกขาไปว่า "โธ" บริกรรมภาวนาไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะก้าวขา พอไปถึงสุดทางอย่าด่วนหมุนตัวกลับให้เร็วนัก ให้ค่อย ๆ หมุนตัวเวียนไปทางขวา หรือจะหยุดยืนกำหนดรำพึงสักครู่ที่หัวทางเดินจงกรมก็ได้ การหยุดรำพึงกำหนดพิจารณาธรรมนั้น จะยืนกลางทางจงกรมหรือตรงไหนก็ได้ไม่บังคับ เพราะธรรมที่ผุดขึ้นมาในใจขณะนั้นย่อมมีความตื้นลึกหนาบางแตกต่างกัน แล้วแต่กรณีที่ควรอนุโลมตามความจำเป็น เมื่อหยุดรำพึงจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ออกเดินต่อไป
การเดินจงกรมนี้ จะเดินนานหรือไม่เพียงไรตามแต่เราจะกำหนดเอง เพราะการเดินจงกรมก็คือทำสมาธิอีกแบบหนึ่งนั่นเอง คือเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อระงับเวทนา นั่งสมาธินานมันเมื่อย ก็ต้องออกเดินจงกรมระงับความเมื่อยขบ ถ้าเดินจงกรมมากมันเหนื่อยก็หยุดเดินเปลี่ยนเป็นนั่งอย่างเดิม ถ้านั่งมากมันเหนื่อยก็ให้นอนทำสมาธิหรือยืนนิ่ง ๆ ทำสมาธิ การนอนทำสมาธินั้น ให้นอนในท่าสีหไสยาสน์ อย่านอนในท่าอื่นเป็นอันขาด "
"การเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาก็คือ การกลั่นกรองหาสิ่งเป็นสาระคุณในตัวเราเพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาอวิชชาตามที่พระพุทธเจ้าและครูอาจารย์ท่านสอนไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าหักโหมร่างกายตัวเองจนเกินไป ให้ปฏิบัติในสายกลาง ๆ เพื่อความเหมาะสมของธาตุขันธ์ร่างกายของตนเอง ที่จำเป็นต้องใช้งานประจำ ถ้าหักโหมมากธาตุขันธ์ร่างกายเจ็บป่วยพิกลพิการไป สุดท้ายก็ไม่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้"
หลวงพ่อกล่าวสรุปในที่สุด สามเณรก้มกราบหลวงพ่อ ผู้ลึกลับด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ที่ท่านได้มีเมตตาอบรมสั่งสอน แนะแนวทางปฏิบัติให้ ท่านให้ศีลให้พรพอสมควรแล้วก็ลาจากไป
นึกแล้วก็เป็นเรื่องประหลาด สามเณรมาบำเพ็ญกรรมฐานในป่า ชาวบ้านได้กล่าวเตือนให้ระวังเสือสมิงจะขบกิน เป็นเสืออาคมอันเกิดจากตุ๊เจ้ารูปหนึ่งร้อนวิชาไสยศาสตร์แปลงกายเป็นเสือ ครั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในป่าก็เจอเสือจริง ๆ เสือทำท่าจะขบกินแต่แล้วมันก็วิ่งหนี เมื่อตามรอยตีนมันมาก็พบเข้ากับพระธุดงค์รูปหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมว่า หลวงพ่อแปลกหน้าที่เจอนี้คือตุ๊เจ้าเสือสมิง ถ้าใช่จริง ๆ ทำไมไม่ขบกินสามเณร
เสือใช่ไหม
เรื่องนี้ ครูบาธรรมชัยได้เล่าในภายหลังต่อมาหลายปีว่า ธรรมชาติของเสือนั้น เป็นสัตว์กินเนื้อที่ดุร้าย เมื่อมันเข้ามาหาคนเราหรือเจอกับมันโดยบังเอิญอย่างจังหน้า ธรรมชาติของเสือจะต้องกระโจนเข้าทำร้ายคนทันที เหตุที่เสือไม่ทำร้ายพระธุดงค์กรรมฐานนั้น เข้าใจว่ามีสาเหตุอยู่ 3 ประการ
1. เทพยดาอารักษ์ในป่าดลบันดาลใจเสือให้เข้ามาทดสอบกำลังใจของพระธุดงค์ ไม่ได้มีเจตนาจะให้มาทำร้าย
2. เทพยดานิรมิตร่างกลายเป็นเสือมาทดสอบกำลังใจ เพราะเทพยดาย่อมจะมีฤทธิ์สามารถจำแลงแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ แปลงกายเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้แปลงกายเป็นปีศาจหลอกหลอนก็ได้
3. เสือจริง ๆ ได้กลิ่นพระธุดงค์ ตรงเข้ามาเพื่อจะขบกัดกินเป็นอาหาร โดยที่เทพยดาไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ครั้นเมื่อเสือเข้ามาใกล้พระธุดงค์แล้ว ก็กระทบเข้ากับกระแสจิตอันแรงกล้าของพระธุดงค์ เป็นกระแสเมตตาอันชุ่มเย็นอย่างประหลาดล้ำทรงอำนาจลี้ลับได้ทำให้หัวใจของเสือคลายความดุร้ายลงเกิดความรู้สึกเป็นมิตรสนิทใจ ดุจเดียวกันกับเสือที่มนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในครอบครัวตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จนเติบโตใหญ่ เสือตัวนั้นย่อมจะรักใคร่เจ้าของ ๆ มันไม่คิดอยากจะกัดกินหรือเห็นเป็นศัตรูเลย
ธมมชโย
สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าห้วยน้ำดิบสามเดือน จึงได้กลับมาอยู่วัด ได้เข้าเรียนนักธรรมกับพระภิกษุแดง วัดพระยืน ต่อมาเมื่ออายุ 19 ก็สอบนักธรรมตรีได้และได้เรียนนักธรรมโทที่วัดมหาวัน สอบนักธรรมโทได้เมื่ออายุ 20 ปี ในปีนี้เอง ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้นามฉายาว่า "ธมมชโย" ณ พัทธสีมาวัด หนองหล่ม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2475 หรือเดือน 5 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก ทางเหนือเรียกว่า ปีเต่าสัน ร.ศ.151 จุลศักราช 1294 เวลา 08.10 น. เจ้าอธิการคำมูล ธมมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระชยเสนาวัดบ้านหลุก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระคัมภีร์ปัญญา วัดปงสนุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสันป่าสักบ้านเกิด พระปินตาได้สึกออกไป พระอินหวันเป็นเจ้าอาวาส ครูบากองแก้ว ธมมชโย จึงได้รับแต่ตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสแทนพระปินตา ต่อมาท่านได้เป็นครูสอนนักธรรมที่สำนักวัดสันป่าสักและวัดน้ำพุ ตำบลเดียวกัน และสอนโรงเรียนประชาบาลด้วย สอนอยู่เป็นเวลาถึง 6 ปี ในระหว่างที่สอนอยู่นี้ เมื่อมีเวลาว่างก็ได้เดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสมัยนั้น ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และหมั่นไปมาหาท่านอยู่เสมอด้วยความเคารพเลื่อมใสบูชาเป็นปรมาจารย์
วัดอินทะขิลใหม่
พ.ศ.2481 คณะศรัทธาหมู่บ้านสันป่าตอง วัดอินทะขิลใหม่ ตำบลอินทะขิล อำเภอแม่แตงเชียงใหม่มีพ่ออุ้ยแก้ว ทิพเดโช เป็นหัวหน้า ได้พากันเดินทางมาอาราธนานิมนต์ครูบาธรรมชัยไปเป็นเจ้าอาวาส เพื่อให้ท่านพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดที่เก่าแก่ทรุดโทรมและโปรดศรัทธาชาวบ้าน ครูบาธรรมชัยรับนิมนต์ออกเดินทางไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2481 ท่านได้บูรณะปลูกสร้างเสนาสนะเครื่องใช้ วัดอินทะขิลใหม่จนเจริญรุ่งเรืองตลอดมาไม่หยุดหย่อนเป็นเวลาถึง 9 ปี ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ให้บวชเรียนเป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคเหนือว่า ท่านเป็นพระนักสร้าง นักพัฒนาวัดวาอาราม สมแล้วที่เป็นศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้วัดอินทะขิลซึ่งเป็นเพียงอาราม หรือ สำนักสงฆ์เล็ก ๆ กลายเป็นวัดใหญ่โตสวยงาม ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทะขิลใหม่ 9 ปีนี้เมื่อว่างจากพัฒนาวัด และอบรมลูกศิษย์พระเณร ท่านจะออกเดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่เสมอ และเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เจ้าสำนักต่าง ๆ ที่เก่ง ๆ เพื่อขอศึกษากรรมฐานและวิทยาคม ในขณะเดียวกันก็ศึกษาค้นคว้าตำหรับตำรายาสมุนไพร แพทย์ศาสตร์แผนโบราณไปด้วย ทำให้ท่านเป็นผู้เรื่องวิทยาคม มีฌานสมาธิแก่กล้าและเชี่ยวชาญทางแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสทั่วไปในสมัยนั้น พ.ศ.2490 ปลายปี ท่านได้อำลาจากวัดอินทะขิลใหม่ และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้าน หลังจากที่ได้สร้างความเจริญให้วัดมาเป็นเวลานานถึง 9 ปี เพื่อจะออกป่าจาริกธุดงคกรรมฐานใฝ่หาความสงบวิเวก บำเพ็ญธรรมให้สมความตั้งใจเสียที คณะศิษย์และญาติโยมชาวบ้านมีความรักและอาลัยไม่อยากจะให้ท่านจากวัดไป แต่เมื่อท่านได้ชี้แจงให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญธรรมปฏิบัติ คณะศิษย์และญาติโยมก็ต้องตัดใจให้ท่านไปทั้ง ๆ ที่อาลัยเสียดายยิ่งนัก
** อนุญาติให้ข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์ ทรูอมูเล็ต ดอทคอม สามารถ อ่าน คัดลอก ตัดแปลง ได้ตามที่ใจท่านต้องการ เพื่อความรู้และการศึกษา โดยไม่ต้องขออนุญาติ ข้อมูลทั้งหมดได้มาจากสื่อสาธารณะที่มีประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้เสียเงินสักบาท และไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ให้คนเข้าเว็บเยอะ ๆ จะได้ขายของได้เยอะ ๆ มีโฆษณามาลงเยอะ ๆ และอีกอย่างหนึ่งเพราะว่าตายไปผมก็เอาไม่ได้ ถ้าหวงนักผมขอแนะนำว่าอย่านำมาลง ให้ปิดเว็บทิ้งไปเลยจะดีกว่าอย่าทำเลย